Exclusive: พี่ชายเหยื่อ บอส อยู่วิทยา "ครอบครัวไม่หวังมีอภินิหารทางกฎหมาย"

Criminal Courts

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ศาลอนุมัติออกหมายจับ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา แล้ว ด้านพี่ชายเหยื่อเผย "ครอบครัวไม่หวังมีอภินิหารทางกฎหมาย"

วันนี้ (28 เม.ย.) ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ใน 2 ข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร โดยหมายจับเลขที่ จ.138/2560 นี้ จะมีอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่ 3 ก.ย.2555 - 3 ก.ย.2570

นายวรยุทธตกเป็นผู้ต้องหาคดีขับรถหรูชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 และไม่มายอมมาพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย เวลา 16.00 น. วานนี้ (27 เม.ย.)ทำให้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ให้รวบรวมสำนวนเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา

สถานะของนายวรยุทธขณะนี้จึงเป็น "ผู้ต้องหาหนีหมายจับของศาล"

อัยการสูงสุดไม่อนุญาตให้นายวรยุทธเลื่อนนัดหมายเป็นรอบที่ 8 หลังไม่มาพบพนักงานอัยการตามนัด วันที่ 27 เม.ย. 2560

ที่มาของภาพ, JEROME TAYLOR/AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, อัยการสูงสุดไม่อนุญาตให้นายวรยุทธเลื่อนนัดหมายเป็นรอบที่ 8 หลังไม่มาพบพนักงานอัยการตามนัด วันที่ 27 เม.ย. 2560

พ.ต.อ.ขจรพงศ์ จิตต์ภาคภูมิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เปิดเผยว่า ได้นำประกาศจับนายวรยุทธขึ้นสู่ระบบทะเบียนแล้ว และจะเร่งติดตามตัวผู้ต้องหาเพื่อนำตัวมาส่งฟ้องก่อนคดีหมดอายุความต่อไป ทั้งนี้ข้อหาไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร จะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2560 นี้

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ติดตามตัวนายวรยุทธมาดำเนินคดี โดยต้องสืบหาแหล่งที่อยู่ในต่างประเทศ และทำงานประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ขณะที่อัยการจะเป็นผู้ประสานงานกับประเทศที่คนร้ายมีหมายจับ เพื่อขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป ซึ่งหากเป็นประเทศอังกฤษตามที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าว ก็มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอยู่แล้ว

line

ครอบครัวผู้สูญเสียไม่หวังมีอภินิหารทางกฎหมาย

นอกจากภารกิจเร่งแกะรอยเพื่อตามหาตัวนายวรยุทธในต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ยังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนหลายสำนัก ในช่วง 2 วันมานี้ ทั้งพี่ชายและพี่สะใภ้ของ "นายดาบผู้ล่วงลับ" ต้องรับสายโทรศัพท์สื่อมวลชนวันละหลายสิบสำนัก

แม้ไปทำงานรับจ้างอยู่ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แต่นายพรอนันต์ กลั่นประเสริฐ วัย 59 ปี พี่ชายดาบตำรวจวิเชียร ก็ติดตามข่าวสารการเบี้ยวนัดอัยการ จนนำไปสู่การออกหมายจับนายวรยุทธตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นไปตามคำทำนายของเขาที่เคยพูดไว้ ตั้งแต่เห็นสื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่านายวรยุทธใช้ชีวิตสุขสบายในประเทศอังกฤษ

"ผมเดาไม่ผิดหรอก ผมไม่คิดว่าจะเห็นเขาไปพบอัยการ หรือไปขึ้นศาล คิดว่าเขาคงไม่กล้าเผชิญหน้ากับสังคม" นายพรอนันต์กล่าวกับบีบีซีไทย

นายวรยุทธเป็นลูกคนสุดท้องของนายเฉลิม อยู่วิทยา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายวรยุทธเป็นลูกคนสุดท้องของนายเฉลิม อยู่วิทยา

สภาวะเช่นนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่นายวรยุทธปฏิบัติกับครอบครัวกลั่นประเสริฐ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่กลางถนนสุขุมวิท คือไม่กล้าเผชิญหน้ากับฝ่ายผู้เสียหาย "เราไม่เคยพบหน้าเขาเลย แต่มีสื่อจับภาพได้ว่าเขาแอบมาเคารพศพวิเชียรที่วัดตอนดึก เมื่อศาลาไม่มีคนในครอบครัวเราเหลืออยู่แล้ว"

สิ่งที่ครอบครัวผู้สูญเสียต้องการฝากบอกไปถึงนายวรยุทธคือ "หากเลือกจะหนี ต้องหนีตลอดไปอีก 15 ปี จนคดีขาดอายุความ เมื่อถึงตอนนั้นนายวรยุทธก็จะกลายเป็นคนวัยกว่า 40 ปีแล้ว"

ไม่ว่าการ "หนี" เป็นการตัดสินใจส่วนตัวของผู้ต้องหาเอง หรือทำตามคำแนะนำทนาย นี่ถือเป็นการ "ตัดสินใจผิดอย่างยิ่ง" ตามทัศนะของนายพรอนันต์ เพราะหากนายวรยุทธมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องติดคุก ศาลอาจเมตตาให้รอลงอาญา ซึ่งในอดีตมีบรรทัดฐานการตัดสินคดีขับรถชนคนตายหลายคดีดังมาแล้ว อีกทั้งผู้กระทำผิดก็ได้ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียมาแล้ว

2 ทางเลือกทายาทกระทิงแดง

มอบตัว

หรือ

หนีคดี

  • 3 ก.ย. 2570 หมดอายุความข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

  • 3 ก.ย. 2560 หมดอายุความข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้นายพรอนันต์ไม่อาจให้ความเห็นได้อย่างเต็มปาก เนื่องจากยอมรับเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยจากตระกูลอยู่วิทยา เป็นเงิน 3 ล้านบาท แลกกับการยุติการฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ตั้งแต่ปี 2555

"เราไม่ใช่ทายาทโดยตรง วิเชียรเขาไม่มีลูก พ่อแม่ก็ไม่อยู่แล้ว ถ้ามีทายาทโดยตรง เราอาจตัดสินใจอีกอย่าง ต้องต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด แต่นี่เราเป็นแค่พี่น้อง จึงไม่อยากค้าความ เพราะต้องเสียค่าจ้างทนาย ต้องไปขึ้นศาลโดยไม่รู้ว่ากี่ปีถึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ เราต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาขนาดนั้น แต่อยากให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ต้องทำคดีกันต่อไป" พี่ชายนายดาบตำรวจระบุ

ตระกูล อยู่วิทยา เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทคาวาลลิโน มอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เฟอร์รารีอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (ภาพจากแฟ้มภาพ)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ตระกูล อยู่วิทยา เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทคาวาลลิโน มอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เฟอร์รารีอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (ภาพจากแฟ้มภาพ)

ถึงวันนี้ครอบครัวกลั่นประเสริฐไม่คาดหวังจะมี "อภินิหารทางกฎหมาย" กับผู้ต้องหาที่เป็นทั้งคนดังและคนมีฐานะ เพียงแต่ขอให้ทุกอย่างดำเนินไปตามมาตรฐานเดียวกันทั้งสังคม

"ครอบครัวเราอโหสิกรรมให้เขานานแล้ว แต่อยากตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมล้มเหลวหรือไม่ ทำไมเขาขอเลื่อนนัดได้หลายครั้ง ทำให้สังคมคิดได้ว่าเจ้าหน้าที่เหมือนต้องการช่วยเหลือประวิงเวลาให้คดีล่าช้าหรือไม่ ในที่สุดก็มีบางคดีขาดอายุความไป เราไม่อยากให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ แล้วแบ่งแยกในสังคมว่าคนรวยคนมีชื่อเสียงได้รับข้อยกเว้นเวลากระทำความผิด ส่วนคนจนต้องติดคุก เพราะนั่นคือ 2 มาตรฐาน"

"วันนี้เราไม่ได้ต้องการอะไร นอกจากเห็นความยุติธรรม" พี่ชายนายดาบตำรวจผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ กล่าวทิ้งท้าย

line

ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เริ่มต้นด้วย "หมายจับ"

การขอ "ส่งผู้ร้ายข้ามแดน" ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 สามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ กับประเทศที่มีสนธิสัญญา และกับประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญา

สำหรับอังกฤษซึ่งเชื่อว่าเป็นที่พำนักของนายวรยุทธในปัจจุบัน ไทยเซ็นได้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ตั้งแต่ปี 2454 ตั้งแต่ยังใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม"

นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เคยอธิบายไว้ว่า การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องเข้าองค์ประกอบกฎหมาย 2 ข้อ 1.เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ และ 2.ความผิดนั้นต้องมีระวางโทษจำคุกหนึ่งปีขึ้นไป

"ซึ่งความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท เข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อ จึงสามารถขอส่งตัวนายวรยุทธเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ภายในอายุความ" นายธนกฤตกล่าว

ไทยกับอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไทยกับอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ "อัยการสูงสุด-กระทรวงการต่างประเทศ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" โดยจะต้องเริ่มต้นกระบวนการ ด้วยการขอให้ศาลออก "หมายจับ"

อุปสรรคสำคัญในการขนส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็คือ กรณีผู้ถูกขอให้ส่งตัวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เดินทางไป ๆ มา ๆ ในหลายประเทศ ทำให้ไม่รู้ว่าจะร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใดดี

ในปัจจุบัน ไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 11 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เบลเยียม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา จีน กัมพูชา บังกลาเทศ เกาหลีใต้ ลาว และอินเดีย แต่กรณีประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาก็สามารถใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อขอความร่วมมือแทนได้